Back

ปศุสัตว์ แหล่งผลิตคาร์บอน 14% ของโลก ทำยังไงถึงจะลดมีเทนได้

ปศุสัตว์ แหล่งผลิตคาร์บอนและมีเทน ที่มีอัตราส่วนมากถึง 14% ของโลก ทว่ามีวิธีผลิต ก็ต้องมีวิธีลด แต่จะทำอย่างไรให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นลดลงได้บ้าง?

ปศุสัตว์ ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนได้ยังไง

อย่างที่หลาย ๆ คนรู้กันว่าสัตว์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวัว ควาย แกะ หมู มักจะผลิตก๊าซมีเทนออกมาเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น วัว สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการย่อยอาหาร 

ปศุสัตว์

เนื่องจากวัวมีถึง 4 กระเพาะ และในกระเพาะส่วนแรกที่รับอาหาร หรือ รูเมน (Rumen) เป็นส่วนกระเพาะขนาดใหญ่ที่วัวใช้ ‘จุลินทรีย์’ ซึ่งก็มีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ดีสามารถสร้างพลังงาน และกลุ่มที่สามารถสร้างก๊าซเรือนกระจกในการหมักอาหาร เช่น จุลินทรีย์กลุ่มเมทาโนเจน (Methanogen) ที่สามารถสร้างก๊าซมีเทนได้

โดยในกระบวนการหมักอาหารของวัว ซึ่งทำให้เกิดก๊าซต่างๆ อาจปล่อยก๊าซผ่านการเรอราว 95% และอีก 5% ผ่านการผายลมของสัตว์

ส่วนอีกทางคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน ‘มูลสัตว์’ โดยในกรณีนี้อาจเป็นผลมาจากวิธีจัดการมูลสัตว์รูปแบบต่าง ๆ เช่น การหมักปุ๋ย ที่สามารถสร้างก๊าซไนตรัสออกไซด์ได้

ปศุสัตว์ ปล่อยก๊าซออกมามากแค่ไหน

รายงานจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency หรือ EPA) เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ระบุว่าอุตสาหกรรมภาคปศุสัตว์และการเกษตรสร้างก๊าซมีเทน (Methane gas) ราว 37% ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งหมด เพราะวัวเพียงตัวเดียวก็สามารถผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก (Global greenhouse gas หรือ GHG) ราว 70 – 120 กิโลกรัมต่อปี 

นอกจากนี้ยังระบุเสริมอีกว่า ขณะนี้มีโคที่เลี้ยงเพื่อการผลิตเนื้อสัตว์ราว 1.5 พันล้านตัวทั่วโลก นำไปสู่การสร้างก๊าซมีเทนอย่างน้อยหนึ่งแสนล้านกิโลกรัมที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศต่อปี 

ปศุสัตว์

ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียวที่ปล่อยก๊าซ แต่ก็ไม่ควรมองข้าม

แน่นอนว่าปศุสัตว์ไม่ได้มีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศมากที่สุด เพราะยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อน แต่ปริมาณก๊าซมีเทนมหาศาลที่มาจากภาคการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจนั้น ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ 

เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่มักมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ นม ชีส หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากฟาร์มปศุสัตว์ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปศุสัตว์ไทยได้บ้าง? 

ทำอย่างไรจึงจะลดการปล่อยมีเทนจากปศุสัตว์ได้บ้าง?

ในช่วงที่ผ่านมา พี่หมีก็ได้รับรู้ข่าวคราวของ ECO Milk ผลิตภัณฑ์นมวัว ที่ผลิตมาจากน้องวัว 500 ตัว ที่กินอาหารที่มีส่วนผสมของสาหร่าย โดยที่ไม่ได้กินหญ้าเลย พบว่าน้องวัวทั้งหมด เกิดการปล่อยมีเทนที่ลดลงเป็นจำนวนมาก

อ่านบทความเกี่ยวกับ ECO Milk – ECO Milk นมจากวัวที่กินแต่สาหร่าย ลดก๊าซมีเทนได้

ต้องบอกเลยว่าวิธีการจัดการในเรื่องนี้ ในแวดวงผู้เชี่ยวชาญและนักสิ่งแวดล้อมต่างก็มีหลากหลายแนวคิด ที่ถูกคิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น 

  • การปรับปรุงพันธุ์วัว ศึกษาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่สามารถปล่อยมีเทนต่ำลงได้
  • การศึกษาและตรวจหาจุลินทรีย์กลุ่มเมทาโนเจน เพื่อพยายามลดหรือปรับสมดุลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
  • การปรับปรุงสูตรอาหารวัว ให้อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพโคในฟาร์มปศุสัตว์ และที่สำคัญสามารถลดการสร้างก๊าซมีเทนในระบบการย่อยอาหารของสัตว์ได้
  • การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดการฟาร์ม เพื่อควบคุมสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนาระบบจัดการมูลสัตว์

ในอนาคตหวังว่าเราจะมีวิธีการ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น ไม่ได้เฉพาะวงการปศุสัตว์ แต่ควรจะครอบคลุมทุกวงการ และทุกอุตสาหกรรม

ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่

Facebook: ECOLIFE

Website: คิดคิด / ECOLIFE

KIDKID
KIDKID

This website stores cookies on your computer. Cookie Policy