สวน 15 นาที หนึ่งในนโยบายสร้างสุข ให้คนเมืองกรุงเข้าถึงสวนสาธารณะได้ในระยะเวลา 15นาที หรือระยะทาง 800 เมตร
สวนสาธารณะคือพื้นที่สีเขียว ที่รวบรวมไว้ทั้งความร่มรื่น กิจกรรมสันทนาการ เครื่องออกกำลังกายต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถใช้เวลาอยู่กับตัวเอง และใช้เวลาอยู่กับคนใกล้ชิดได้อย่างเต็มที่
เดิมทีแล้วกรุงเทพมหานคร นับได้ว่าเป็นเมืองที่มีสวนสาธารณะหลายจุดมาก หากเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ทว่าสวนสาธารณะเหล่านั้น ไม่อาจที่จะเข้าถึงได้โดยทั่วกัน และพื้นที่สีเขียวดังกล่าว ก็อยู่ในส่วนของตัวเมือง มากกว่าที่จะอยู่ใกล้ย่านชุมชนคนพักอาศัย ดังนั้นแล้ว “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้กำหนดนโยบายสวน 15 นาทีนี้ขึ้นมา
ทำไมถึงต้องชื่อว่า “สวน15นาที”
สวน 15 นาที เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า ทำยังไงถึงจะให้ผู้คนเข้าถึงธรรมชาติกลางกรุงได้ง่ายและใกล้ที่สุด จากเดิมที่สวนสาธารณะหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพมักจะตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางเมือง หรือตามที่รถไฟฟ้าเข้าถึง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวกรุงจะต้องนั่งรถออกจากบ้านหลายกิโลเมตร เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงธรรมชาติเหล่านั้น จะดีกว่าหรือไม่ หากเราจะมีสวนสาธารณะที่ใกล้บ้าน โดยที่สามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งธรรมชาติดังกล่าวได้ในระยะทางแค่ 800 เมตร หรือ 15นาที
“มันคือความใกล้บ้าน ความจริงแล้ว กทม. มีสวนดีๆ เยอะ อย่างสวนเบญจกิติ สวนลุมฯ แต่หากคนที่ไม่ได้อยู่ในละแวกนี้ ต้องขับรถเดินทางมาตอนเช้าเพื่อใช้บริการ ต้องเผชิญกับรถติด อาจไม่ตอบโจทย์คนเมือง แต่หากเรามีสวนใกล้บ้านที่เขาแค่เดินไปได้ภายใน 800 เมตร ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้พื้นที่กับครอบครัวและสัตว์เลี้ยง” – พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
สำหรับสวน 15 นาทีจะเป็นรูปแบบของ Pocket Park หรือสวนเล็ก ๆ ตามตรอก ลซอกซอย ไม่จำกัดขนาด พื้นที่ และรูปแบบ แต่สำคัญคือ ตอบโจทย์เพิ่มความสุขจากการได้มีพื้นที่กิจกรรมร่วมกันของแต่ละชุมชน
โดย Pocket Park แต่ละแห่งจะมีคอนเซปต์ที่แต่ละเขตจะออกแบบมาตามบริบทของชุมชน เช่น สวนกินได้ สวนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สวนป่าเล็ก ๆ ที่มีไม้ยืนต้น ถ้ามีลานกีฬาเพิ่มก็ยิ่งดี แต่ควรเป็นสวนป่าที่ปรับปรุงตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้ ถนนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนกรีต
ปรับพื้นที่ที่มีอยู่ ให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน กทม.มีลานกีฬาทั้งสิ้น 1,034 แห่ง สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวคุณภาพและมีมาตรฐานได้ ส่วนการเพิ่มพื้นที่ใหม่สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ อาทิ พัฒนาสวนขนาดเล็กในพื้นที่ราชการและเอกชน แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้าง พื้นที่จุดบอดบริเวณโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอพื้นที่เหมาะสมต่อการพัฒนา
นอกจากนี้ ยังสามารถเปิดพื้นที่นอกอาคารของสถานที่ราชการให้ประชาชนเข้าใช้ได้บางเวลา ตลอดจนใช้กลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม. พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี หรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์
“เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนพัฒนาสิ่งแวดล้อมดีเพื่อทุกคน และเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจของเมืองในอนาคต” – ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ขอบคุณภาพจาก: สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่
Facebook: ECOLIFE